จากนโยบายรัฐบาลได้กำหนดให้การพัฒนา SMEs เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากเป็นฐานรากของ การพัฒนาเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลได้กำหนดกรอบและแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ด้วยการสร้าง “ความเข้มแข็งจากภายใน” ผ่านการขับเคลื่อนตามแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”ผ่านกลไก “ประชารัฐ” โดยมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy) โดยการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจดังกล่าว เป็นไปเพื่อการก้าวข้ามจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางมุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง และการสร้างเสริมให้เกิดการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของวิสาหกิจที่เริ่มจัดตั้งใหม่หรือสตาร์ทอัพ (Startup)
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงกำหนดยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ที่สอดรับกับนโยบายและยุทธศาสตร์หลักที่สำคัญของรัฐบาล ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ที่ 1 "ยกระดับและเชื่อมโยงการบริการเพื่อเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีแห่งอนาคตและทุนวัฒนธรรม” กลยุทธ์ที่ 2 “สร้างผู้ประกอบการใหม่และพัฒนาผลิตภัณฑ์ในเชิงนวัตกรรม” โดยการเสริมสร้างความรู้และศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการ เสริมสร้างความเข้มแข็งในช่วงเริ่มต้นธุรกิจใหม่ด้วยการพัฒนาแนวคิดธุรกิจ ต่อยอดให้ผู้ที่จะก้าวเป็นผู้ประกอบการใหม่สามารถกำหนดแผนและเป้าหมายทางธุรกิจที่ชัดเจน ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจ อีกทั้งเพื่อเปิดโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการเริ่มต้นธุรกิจ โอกาสการเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ตรงในการดำเนินธุรกิจ ปัจจัยสนับสนุนประการหนึ่งของการเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมาย คือ การมีระบบ การเรียนรู้ที่พัฒนาแล้วผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-learning) ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง